ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๔
อธิบดีกรมสารนิเทศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมแถลงข่าวประกาศผลผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. 2564 โดยในปีนี้ ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลฯ สาขาการแพทย์ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.กอตอลิน กอริโก (Katalin Karikó, Ph.D.) จากฮังการี/สหรัฐอเมริกา ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ดรู ไวส์แมน (Drew Weissman, M.D., Ph.D.) จากสหรัฐอเมริกา และศาสตราจารย์ ดร. ปีเตอร์ คัลลิส (Pieter Cullis, Ph.D.) จากแคนาดา
เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เข้าร่วมงานแถลงข่าวประกาศผลผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. 2564 ณ โรงพยาบาลศิริราช ร่วมกับ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา รองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์สุพัฒน์ วาณิชย์การ เลขาธิการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ นางซาราห์ เทย์เลอร์ เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย นางสาวออนนา บาลินท์ อุปทูตฮังการีประจำประเทศไทย และนายไมเคิล ฮีธ อุปทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย
ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2564
สาขาการแพทย์ ได้แก่
- รองศาสตราจารย์ ดร. กอตอลิน กอริโก (Katalin Karikó, Ph.D.) จาก สหรัฐอเมริกา / ฮังการี
- ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ดรู ไวส์แมน (Drew Weissman, M.D., Ph.D.) จาก สหรัฐอเมริกา
- ศาสตราจารย์ ดร. ปีเตอร์ คุลลิส (Pieter Culllis, Ph.D.) จาก แคนาดา
รองศาสตราจารย์ ดร. กอตอลิน กอริโก และศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ดรู ไวส์แมน ได้ร่วมกันศึกษาวิจัยวิธีการนำเมสเซนเจอร์ อาร์เอนเอ (mRNA) มาใช้ในทางการแพทย์และนำเทคโนโลยีเมสเซนเจอร์อาร์เอนเอมาใช้ในการพัฒนาวัคซีนต่อต้านโควิด-19 ทั้งสองท่านเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ด้วยเทคโนโลยีใหม่ ทำให้เกิดวัคซีนโควิด-19 ชนิดเมสเซนเจอร์อาร์เอนเอ ซึ่งเป็นวัคซีนที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วตอบสนองกับการระบาด ทำให้สามารถลดการติดเชื้อและการเจ็บป่วยรุนแรง อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมการระบาดในประเทศต่างๆ และเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัย รวมถึงชีวิตผู้ป่วยหลายร้อยล้านคนทั่วโลก
ศาสตราจารย์ ดร. ปีเตอร์ คัลลิส เป็นผู้บุกเบิกงานด้านอนุภาคไขมัน ลิปิดนาโนพาร์ติเคิล ซึ่งมีการใช้ในทางการแพทย์ในลักษณะต่าง ๆ และได้มีการนำมาใช้ในการพัฒนาวัคซีนชนิดเมสเซนเจอร์อาร์เอนเอ ซึ่งกำลังใช้ในการควบคุมการแพร่จะบาดของโรคโควิด-๑๙ อยู่ในปัจจุบัน ผลงานของศาสตราจารย์ คัลลิส นอกจากจะทำให้มีการพัฒนาวัคซีนโควิด-๑๙ ได้สำเร็จแล้ว ยังทำให้มีวิธีการที่จะนำกรดนิวคลิอิกเข้าสู่เซลล์ได้อย่างปลอดภัย ซึ่งเปิดความเป็นไปได้อีกมากมายในการนำเทคโนโลยีกรดนิวคลิอิคมาใช้ในการป้องกันและรักษาโรคต่าง ๆ ในอนาคต ก่อประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยและชีวิตของมนุษย์หลายร้อยล้านคนทั่วโลก
ทั้งนี้ มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2564 ทั้งสิ้น 86 ราย จาก 35 ประเทศ คณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการได้พิจารณากลั่นกรอง และคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ ได้พิจารณาจากผู้ได้รับการเสนอชื่อรวม 3 ปี คือ ปี 2564, 2563, 2562 และนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธาน พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2564
โดยระยะเวลา 29 ปี ที่ผ่านมา มีบุคคลหรือองค์กรได้รับรางวัลแล้วทั้งสิ้น 87 ราย มีคนไทยได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล 4 ราย ได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสงค์ ตู้จินดา จากการศึกษาผลกระทบของเชื้อไวรัสเด็งกี่ ต่อความพิการของร่างกายเด็กที่ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก รับร่วมกับ ศาสตราจารย์แพทย์หญิงสุจิตรา นิมมานนิตย์ จากการจำแนกความรุนแรงของโรคไข้เลือดออก ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2539 และ นายแพทย์วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ผู้ริเริ่มโครงการส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย 100% ช่วยป้องกันการแพร่กระจายของโรคเอดส์ รับร่วมกับ นายมีชัย วีระไวทยะ ผู้ริเริ่มวิธีการสื่อสารรณรงค์เผยแพร่การใช้ถุงยางอนามัยได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการสาธารณสุข ประจำปี 2552
ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลแล้วต่อมา ได้รับรางวัลโนเบล 5 ราย ได้แก่
ศาสตราจารย์แบรี่ เจมส์ มาแชล จากประเทศออสเตรเลีย ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการสาธารณสุข ประจำปี 2544 จากการค้นพบเชื้อแบคทีเรีย เฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอรี่ เป็นสาเหตุของโรคกระเพาะอาหารเป็นแผล ต่อมาได้รับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ ในปี 2548 ด้วยการค้นพบเดียวกัน
ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ฮารัลด์ ซัวร์ เฮาเซ่น จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2548 จากการค้นพบเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก ต่อมาได้รับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2551 จากการค้นพบเดียวกัน
ศาสตราจารย์ซาโตชิ โอมูระ จากประเทศญี่ปุ่น ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2540 จากผลงานการศึกษาวิจัยจุลชีพชนิดหนึ่งชื่อ สเตรฟโตมัยซีสเอเวอร์มิติลิต จนสามารถสังเคราะห์ยา ivermectin ใช้รักษาและป้องกันโรคตาบอดจากพยาธิและโรคเท้าช้าง ต่อมาได้รับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2558 จากผลงานเดียวกัน
ศาสตราจารย์ตู โยวโยว จากสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นสมาชิกของกลุ่ม china cooperative research group on qinghaosu and its derivatives as antimalarials ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2546 จากการศึกษาสารสกัดชิงเฮาซูจนสามารถพัฒนาเป็นยารักษาโรคมาลาเรีย ต่อมาได้รับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2558 จากการศึกษาเดียวกัน
เซอร์เกรกอรี พอล วินเทอร์ ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2559 จากการพัฒนาเทคโนโลยีในการสร้าง และดัดแปลงโมเลกุลของแอนติบอดีให้มีประสิทธิภาพสูงและมีความเป็นสิ่งแปลกปลอมลดลง (Antibody Humanization) นำไปสู่ความก้าวหน้าในการพัฒนายา กลุ่มใหม่ จากชีวโมเลกุลซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในการรักษาโรค ต่อมาได้รับรางวัลโนเบล สาขาเคมี ประจำปี 2561 จากการพัฒนาเดียวกัน
ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ.2564
สาขาการแพทย์
รองศาสตราจารย์ ดร.กอตอลิน กอริโก
(Katalin Karikó, Ph.D.)
รองประธานอาวุโส บริษัทไบโอเอ็นเทค อาร์เอนเอ ฟาร์มาซูติคอล สหพันธรัฐเยอรมนี
รองศาสตราจารย์สมทบ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ฟิลาเดลเฟีย
สหรัฐอเมริกา / ฮังการี
รองศาสตราจารย์ ดร.กอตอลิน กอริโก สำเร็จการศึกษาดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเซเก็ด ประเทศฮังการี
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ดรู ไวส์แมน สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยบอสตัน สหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นฝึกอบรม ณ สถาบันสุขภาพแห่งชาติ รัฐแมรี่แลนด์ สหรัฐอเมริกา กับนายแพทย์ แอนโทนี ฟอซี (Dr. Anthony Fauci) ผู้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2556 สาขาการแพทย์
รองศาสตราจารย์ ดร.กอตอลิน กอริโก และศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ดรู ไวส์แมน ได้ร่วมกันศึกษาวิจัยวิธีการนำเมสเซนเจอร์ อาร์เอนเอ มาใช้ในทางการแพทย์ โดยในปี พ.ศ.2549 ได้ร่วมกันค้นพบว่าการใช้นิวคลิโอไซด์ดัดแปลงช่วยลดปฏิกิริยาของเซลล์ต่ออาร์เอนเอแปลกปลอมได้ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการนำเมสเซนเจอร์อาร์เอนเอมาใช้ประโยชน์ ทั้งนี้เนื่องจากตามธรรมชาติแล้ว เมสเซนเจอร์อาร์เอนเอแปลกปลอมที่ให้เข้าไปจากภายนอกเซลล์จะถูกกลไกต่อต้านไวรัสของเซลล์ตรวจจับ และเมื่อพบอาร์เอนเอแปลกปลอมก็จะกระตุ้นกลไกต่างๆที่จะยับยั้งการแปลรหัสจากอาร์เอนเอและกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ ซึ่งกลไกเหล่านี้เป็นอุปสรรคสำคัญในการนำเมสเซนเจอร์อาร์เอนเอมาใช้ฉีดเข้าในร่างกายเพื่อการป้องกันหรือรักษาโรค การค้นพบดังกล่าวรวมทั้งการศึกษาวิจัยต่อๆ มาของ รองศาสตราจารย์ ดร.กอตอลิน กอริโก และศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ดรู ไวส์แมน ที่ทำให้มีการนำซูโดยูริดีนมาใช้ในการสร้างเมสเซนเจอร์อาร์เอนเอ และการคิดค้นวิธีการในการทำเมสเซนเจอร์อาร์เอนเอที่มีซูโดยูริดีนให้บริสุทธิ์ เป็นรากฐานสำคัญในการนำเทคโนโลยีเมสเซนเจอร์อาร์เอนเอมาใช้ในการพัฒนาวัคซีนต่อต้านโควิด-19 รองศาสตราจารย์ ดร.กอตอลิน กอริโก และศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ดรู ไวส์แมน ยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ด้วยเทคโนโลยีใหม่นี้ได้อย่างรวดเร็ว
ผลงานของรองศาสตราจารย์ ดร.กอตอลิน กอริโก และศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ ดรู ไวส์แมน ทำให้เกิดวัคซีนโควิด-19 ชนิดเมสเซนเจอร์อาร์เอนเอ ซึ่งเป็นวัคซีนที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วตอบสนองกับการระบาด ทำให้สามารถลดการติดเชื้อและการเจ็บป่วยรุนแรง อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมการระบาดในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัย และชีวิตผู้ป่วยหลายร้อยล้านคนทั่วโลก
ศาสตราจารย์ ดร. ปีเตอร์ คุลลิส
(Pieter Culllis, Ph.D.)
ศาสตราจารย์ ภาควิชาชีวเคมีและชีววิทยาโมเลกุล มหาวิทยาลัยบริทิชโคลัมเบีย, แวนคูเวอร์
แคนาดา
ศาสตราจารย์ ดร. ปีเตอร์ คุลลิส สำเร็จการศึกษาดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยบริทิชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา และทำงานวิจัยด้านชีวเคมีของไขมันที่มหาวิทยาลัยนี้ตลอดมาจนปัจจุบัน
ศาสตราจารย์ ดร. ปีเตอร์ คุลลิส เป็นผู้บุกเบิกงานด้านอนุภาคไขมัน ลิปิดนาโนพาร์ติเคิล ซึ่งมีการใช้ในทางการแพทย์ในลักษณะต่างๆ เช่นการนำส่งยาต้านมะเร็งไปยังเนื้อเยื่อมะเร็งโดยไม่ทำให้เกิดพิษต่อเนื้อเยื่อปกติ และอนุภาคไขมันที่ศาตราจารย์คุลลิสพัฒนาที่น่าสนใจมากที่สุดได้แก่ อนุภาคไขมันที่มีไขมันที่สามารถทำให้มีประจุบวกได้ โดยไขมันดังกล่าวไม่มีประจุเมื่ออยู่ในสภาพความเป็นกรดด่างที่เป็นกลาง แต่จะมีประจุบวกเมื่ออยู่ในสภาพเป็นกรด อนุภาคไขมันเหล่านี้ไม่ทำปฏิกิริยาและไม่เป็นพิษต่อเซลล์เนื่องจากไม่มีประจุ แต่เมื่อถูกนำเข้าสู่เซลล์ภายในเอนโดโซมซึ่งมีสภาพเป็นกรดก็จะเปลี่ยนเป็นมีประจุบวก ซึ่งจะทำให้หลอมเชื่อมกับเยื่อไขมันของเซลล์ที่มีประจุลบ การหลอมเชื่อมของเยื่อไขมันดังกล่าวทำให้มีการนำส่งส่วนประกอบภายในของอนุภาคไขมันเช้าสู่ไซโตปลาสซึมของเซลล์ วิธีการดังกล่าวได้มีการนำมาใช้ในการพัฒนาวัคซีนชนิดเมสเซนเจอร์อาร์เอนเอ ซึ่งกำลังใช้ในการควบคุมการแพร่จะบาดของโรคโควิด 19 อยู่ในปัจจุบัน
ผลงานของศาสตราจารย์ ปีเตอร์ คุลลิส นอกจากจะทำให้มีการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ได้สำเร็จแล้ว ยังทำให้มีวิธีการที่จะนำกรดนิวคลิอิกเข้าสู่เซลล์ได้อย่างปลอดภัย ซึ่งเปิดความเป็นไปได้อีกมากมายในการนำเทคโนโลยีกรดนิวคลิอิคมาใช้ในการป้องกันและรักษาโรคต่างๆ ในอนาคต ก่อประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัย และชีวิตของมนุษย์หลายร้อยล้านคนทั่วโลก
ที่มา กระทรวงการต่างประเทศ
Prince Mahidol Award 2020 Laureates
www.princemahidolaward.org
[English]