20 มีนาคมวันครบความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับสหรัฐฯ
มิตรภาพไทย-สหรัฐฯ เริ่มต้นขึ้นอย่างน้อยที่สุดเมื่อ 200 ปีที่แล้วในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อกัปตันสตีเฟน วิลเลียมส์ พ่อค้าชาวอเมริกันคนแรกที่เดินทางมาไทยในปี 2361 (ค.ศ. 1818) นอกจากจะขนสินค้าสำคัญจากสยาม คือ น้ำตาลกลับไปยังสหรัฐฯ แล้ว ยังได้นำจดหมายจากพระยาสุริยวงศ์มนตรี (ดิศ บุนนาค) ไปมอบให้ประธานาธิบดีเจมส์ มอนโร (ประธานาธิบดีคนที่ 5 ของสหรัฐฯ) อันถือเป็นการติดต่อกันครั้งแรกตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์
ความสัมพันธ์ทางการทูต เริ่มต้นขึ้นจากการทำสนธิสัญญาไมตรีและการพาณิชย์ (Treaty of Amity and Commerce) ในปี 2376 (ค.ศ. 1833) ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และประธานาธิบดีแอนดรูว์ แจ็กสัน (ประธานาธิบดีคนที่ 7 ของสหรัฐฯ) ซึ่งทำให้สยามเป็นประเทศแรกในเอเชียที่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ ซึ่งครบรอบ 185 ปี ในปี 2561
ภาพสนธิสัญญาไมตรีและการพาณิชย์
ข้อความจากสนธิสัญญา (ภาษาไทย)
สมเด็จพระพุทธิเจ้าอยู่หัว ณ กรุงพระมหานครศรีอยุทธยา ทำหนังสือสัญญาทางไมตรีค้าขายต่อ อิศตาโดอุนิโดดาอเมริกะ แล้วสมเด็จพระพุทธิเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ท่านเจ้าพระยาพระคลัง เสนาบดีผู้ใหญ่ทำหนังสือสัญญากับ เอดแมน รอเบต ขุนนางซึ่งอิศตาโตอนิโดดาอเมริกะเมืองมะริกันให้เข้ามาแทนตัว ทำหนังสือเปนไมตรีรักใคร่ด้วยน้ำใจซื่อตรงไว้ต่อกันทั้ง 2 ฝ่าย ไทยกับชาติมะริกันจะได้ไปมาค้าขายถึงกันโดยสุจริตสืบไปชั่วฟ้าแลดิน
ไทยกับชาติมริกันทำหนังสือสัญญาวันพุธเดือนสี่แรมสิบห้าค่ำ ศักราช 1194 ปีมะโรงจัตวาศก ศักราชฝรั่ง 1833 เดือนมาโชร์เขียนเป็นอักษรไทยฉบับหนึ่ง อักษรมริกันฉบับหนึ่ง ไทยไม่รู้จักอักษรมริกัน มริกันไม่รู้จักอักษรไทย จึงเขียนอักษรพุทเกษฉบับหนึ่ง อักษรจีนฉบับหนึ่ง ไว้เป็นพยาน เรื่องความอักษรไทย อักษรมริกัน อักษรพุทเกษ อักษรจีน ต้องกัน ฝ่ายกรุงพระมหานครศรีอยุธยา ลงชื่อท่านเจ้าพระยาพระคลังเสนาบดีผู้ใหญ่ ปิดตราบัวแก้วประจำชื่อ ฝ่ายมริกันลงชื่อ เอดแมน รอเบต ปิดตรารูปนกรูปดาวประจำเป็นสำคัญให้ไว้ ณ กรุงพระมหานครศรีอยุธยา ฉบับหนึ่ง เอดแมน รอเบต เอาไปไว้เมืองมริกันฉบับหนึ่ง อิศตาโดอุนิโดดาอเมริกะ ปิดตราเข้ามาเปลี่ยน แล้วกรุงพระมหานครศรีอยุธยาจะปิดตราพระอัยราเปลี่ยนให้ออกไปตามความสำคัญ
ข้อ 1 ไทยกับฝรั่งชาติมริกัน เปนไม้ตรีมีความราบคาบต่อกันชั่วฟ้าแลดิน
ข้อ 2 ลูกค้าชาติมริกันจะเข้ามาค้าขาย ณ กรุงพระมหานครศรีอยุธยา และหัวเมืองขึ้นกับกรุง จะบรรทุกสินค้าสิ่งใดใดนอกจากฝิ่นเป็นของต้องห้ามเข้ามาขายและจะซื้อสินค้าที่มีอยู่ณกรุง และสินค้าจะมีมาแต่หัวเมืองใดใดก็ดี เจ้าพนักงานในหลวงจะไม่ขัดขวางแลตั้งราคาให้ลูกค้าชาติมริกันแลลูกค้ากรุง ได้ซื้อขายกันเองทั้งสองฝ่ายโดยสะดวก ถ้ากำปั่นลูกค้าชาติมริกันลำใดๆ จำหน่ายสินค้าแลบรรทุกสินค้าการทั้งปวงเสร็จ เจ้าพนักงานจะให้เบิกล่องไปโดยคล่องสะดวก ถ้าลูกค้าชาติมริกันจะบรรทุกเครื่องสาตราวุธเข้ามาจำหน่าย ณ กรุง ไม่ขายให้กับผู้ใดผู้หนึ่ง จะจำหน่วยให้ในหลวงให้สิ้น ถ้าในหลวงต้องการก็จะซื้อไว้ ไม่ต้องการก็ไม่ซื้อ แต่เข้าสารนั้นจะบรรทุกเป็นสินค้าออกไปไม่ได้ด้วย ณ กรุงห้ามอยู่
ข้อ 3 ลูกค้าชาติมริกันเข้ามาค้าขาย ณ กรุง แลหัวเมืองซึ่งขึ้นกับกรุง ให้ได้ซื้อขายกันโดยสะดวก แต่ค่าธรรมเนียมสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นให้ยกเสีย ให้เจ้าพนักงานวัดปากกำปั่น ถ้ากำปั่นมีดาดฟ้าสองชั้น ให้วัดหลังดาดฟ้าชั้นล่าง ถ้ามีดาดฟ้าชั้นเดียว ให้วัดหลังดาดฟ้าชั้นบน แต่ให้วัดกึ่งกลางโดยยาวกำปั่น ชาติมริกันเสียค่าธรรมเนียมให้เหมือนปากกำปั่น ที่มีสินค้าวาละพันเจดร้อยบาท ที่ไม่มีสินค้ามีแต่เงินเข้ามาซื้อสินค้าวาละพันห้าร้อยบาท ด้วยไม้วาที่กรุง ยาว 78 นิ้วมริกัน นิ้วไทยยเก้าสิบหกนิ้ว และลูกค้าชาติมริกันไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเรือลำเลียงและค่าธรรมเนียมอื่นอื่นนอกจากค่ากำปั่นอีกเลย ถ้ากำปั่นชาติมริกันจะเกิดเหตุการณ์ในกลางชะเล เสากระโดงเพลาใบหักและขัดสนด้วยเสบียงอาหารจะแวะเข้ามาเปลี่ยนเสากระโดงเพลาใบแลซื้อของกิน ณ กรุง ก็ดี ชาติมริกันจะทอดกำปั่นอยู่นอกปากน้ำ แต่ตัวจะเข้ามาสืบสินค้าก็ดี อย่าให้เรียกค่าธรรมเนียมแก่ชาติมริกัน
ข้อ 4 ถ้านานไปเบื้องหน้าค่าธรรมเนียมสลุบกำปั่นจะลดให้ประเทศใดภาษาใด น้อยจากคำธรรมเนียมซึ่งสัญญาไว้นี้ กรุงจะลดค่าธรรมเนียมให้ชาติมริกันตามประเทศนั้น
ข้อ 5 สลุบกำปั่นชาติมริกันจะเป็นเหตุอันตรายสิ่งใดในท้องชะเลในแขวงกรุง แลแขวงหัวเมืองขึ้นกับกรุง จะมีคนแลสิ่งของรอดจากอันตรายมากน้อยเท่าใด ให้ช่วยทำณุบำรุงเลี้ยงดูเอาใจใส่ให้ที่อยู่อย่าให้ขัดสนได้ กว่าจะได้กลับไปบ้านเมือง และเงินซึ่งกรุงได้เสียเป็นค่ากินใช้สอยไปมากน้อยเท่าใด อิศตาโดอนิโดดาอเมริกะเมืองมริกันจะใช้ให้
ข้อ 6 ชาติมริกันจะเข้ามาค้าขาย ณ กรุง จะเป็นหนี้สินอยู่ที่กรุงมากน้อยเท่าใด ลูกค้าที่กรุงจะเป็นหนี้สินชาติมริกันมากน้อยเท่าใด คนซึ่งเป็นลูกหนี้มีสิ่งของมากน้อยเท่าใดจะต้องซื้อขายใช้หนี้ให้กับเจ้าหนี้กว่าจะสิ้นของที่มี ถ้าสิ้นของที่มีแล้วยังไม่ครบเงินที่ค้าง อย่าให้เอาลูกหนี้ไปเปนค่าใช้สอยจำจองเฆี่ยนตีเร่งเอาเงิน ให้ปล่อยลูกหนี้ไปตามใจ
ข้อ 7 ลูกค้าชาติมริกันเข้ามาค้าขาย ณ กรุง และหัวเมืองขึ้นกับกรุง ถ้าจะเช่าที่ขึ้นอยู่จะให้เช่าที่ตึกหลวงอยู่ ชาติมริกันจะเสียค่าเช่าให้ตามธรรมเนียม ถ้าจะขนสินค้าขึ้นค้าขายเจ้าพนักงานต้องตรวจดูสิ่งของ อย่าให้เจ้าพนักงานเรียกเอาภาษีจังกอบ
ข้อ 8 สลุบกำปั่นขาดมริกันจะเข้ามาที่ประเทศใดใด พบปะโจรผู้ร้ายสลัดศัตรูที่แห่งใด คนร้ายจะทำร้ายแก่ชาติมริกันคนและของจะตกเข้ามา ณ กรุง และหัวเมืองขึ้นกับกรุง กรุงจะช่วยชำระให้คืนกลับไป
ข้อ 9 ชาติมริกันจะเข้ามาค้าขาย ณ กรุงจะทำตามกฎหมายอย่างธรรมเนียม ณ กรุงทุกสิ่ง
ข้อ 10 นานไปเบื้องหน้า ฝรั่งชาติใดภาษาใดนอกจากพุทเกษ จะขอเข้ามาตั้งกงสุล ณ กรุง ถ้ากรุงโปรดให้ตั้ง ชาติมริกันจะตั้งกงสุลตามฝรั่งชาติซึ่งโปรดนั้น