คำถามที่พบบ่อย (บัตรประจำตัวประชาชน)
1. สามารถยื่นขอต่อบัตรประจำตัวประชาชนผ่านทางไปรษณีย์ได้หรือไม่
ไม่ได้ เนื่องจากต้องมีการบันทึกข้อมูลชีวภาพ อาทิ ลายนิ้วมือ รูปถ่าย เพื่อบันทึกลงในบัตรประจำตัวประชาชน ดังนั้น จึงต้องเดินทางมาด้วยตนเอง และท่านจะได้รับบัตรประจำตัวประชาชนใบใหม่ทันทีในวันที่มารับบริการ
2. สามารถขอรับการบริการโดยไม่ต้องทำนัดหมายล่วงหน้าได้หรือไม่
ไม่ได้ หากท่านต้องการยื่นขอทำบัตรประจำตัวประชาชน ท่านต้องทำการนัดหมายล่วงหน้าผ่าน https://thaiembdc.org/th/consularservice/idcard/ เท่านั้น
3. หากสมาชิกในครอบครัวต้องการทำบัตรประจำตัวประชาชนพร้อมกัน ต้องทำการจองนัดแยกกันหรือไม่
ต้องทำนัดแยกเป็นรายบุคคล
4. สถานเอกอัครราชทูตฯ (ฝ่ายกงสุล) เปิดให้นัดหมายในช่วงบ่ายหรือไม่
ไม่ เนื่องจากในช่วงบ่ายเจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการงานกงสุลในด้านอื่น จึงไม่สามารถเปิดให้บริการต่อสาธารณะในช่วงบ่ายได้ ทั้งนี้ ท่านยังคงสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่บัตรประจำตัวประชาชนได้ที่อีเมล idcard@thaiembdc.org หรือโทร (202) 640-5328 ตั้งแต่เวลา 09:00 – 17:00 น. (เวลากรุงวอชิงตัน)
5. หากไม่สะดวกเดินทางมาขอทำบัตรประจำตัวประชาชนที่สถานเอกอัครราชทูตฯ จะมีช่องทางอื่นหรือไม่
การขอทำบัตรประจำตัวประชาชน ผู้ขอจะต้องมาแสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่เท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกต่อคนไทยในสหรัฐฯ สถานเอกอัครราชทูตฯ และสถานกงสุลใหญ่ได้จัดบริการกงสุลสัญจร โดยเจ้าหน้าที่จะเดินทางไปให้บริการตามรัฐต่างๆ เป็นประจำทุกปี ตามเขตอาณาที่ได้รับผิดชอบ หากท่านอาศัยอยู่ในเขตรับผิดชอบของสถานเอกอัครราชทูตฯ ท่านสามารถดูข้อมูลการให้บริการกงสุลสัญจรของสถานเอกอัครราชทูตฯ (ฝ่ายกงสุล) ได้ที่นี้ หรือท่านสามารถตรวจดูตารางการให้บริการกงสุลสัญจรบนหน้าเว็บไซต์ของสถานกงสุลใหญ่ในเขตที่ตนอาศัยอยู่ได้ที่เว็บไซต์ https://thaiembdc.org/mobileconsularservices/
6. จะหาข้อมูลการยื่นขอบัตรประจำตัวประชาชนได้จากที่ไหน
ท่านสามารถอ่านข้อมูลเกี่ยวกับการยื่นขอทำบัตรประจำตัวประชาชนและทำการนัดหมายได้ที่ https://thaiembdc.org/th/consularservice/idcard/ ทั้งนี้ ในกรณีที่ท่านมีข้อสอบถามเพิ่มเติม สามารถติดต่อฝ่ายบัตรประจำตัวประชาชนที่อีเมล idcard@thaiembdc.org หรือโทร (202) 640-5328
7. ขอทำบัตรประจำตัวประชาชนในต่างประเทศได้ในกรณีใดบ้าง และค่าธรรมเนียมเท่าใด
7.1 กรณีขอมีบัตรใหม่ ได้แก่
– บัตรเดิมหมดอายุ (ไม่มีค่าธรรมเนียม)
– บัตรเดิมสูญหาย (ค่าธรรมเนียมเงินสด 4 ดอลลาร์สหรัฐ)
– บัตรเดิมถูกทำลาย (ค่าธรรมเนียมเงินสด 4 ดอลลาร์สหรัฐ)
7.2 กรณีขอเปลี่ยนบัตร ได้แก่
– บัตรเดิมชำรุดในสาระสำคัญ (ค่าธรรมเนียมเงินสด 4 ดอลลาร์สหรัฐ)
– ผู้ถือบัตรเปลี่ยนชื่อตัวและ/หรือชื่อสกุลไทย (ค่าธรรมเนียมเงินสด 4 ดอลลาร์สหรัฐ)
– ผู้ถือบัตรเปลี่ยนชื่อตัวและ/หรือชื่อสกุลตัวสะกดภาษาอังกฤษ (ไม่มีค่าธรรมเนียม)
– ผู้ถือบัตรย้ายถิ่นฐานภูมิลำเนา (ค่าธรรมเนียมเงินสด 4 ดอลลาร์สหรัฐ)
8. สามารถยื่นคำร้องขอบัตรประจำตัวประชาชนก่อนหมดอายุได้หรือไม่
ท่านไม่สามารถทำบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ได้ หากบัตรใบเดิมยังมีอายุเหลือเกินกว่า 60 วัน (ยกเว้นกรณีบัตรหาย)
9. การยื่นขอบัตรประจำตัวประชาชนต้องใช้เอกสารอะไรประกอบบ้าง
ท่านสามารถตรวจสอบเอกสารที่ท่านต้องนำมายื่นประกอบได้ที่เว็บไซต์ https://thaiembdc.org/th/consularservice/idcard/ ทั้งนี้ ระบบจะแจ้งให้ท่านทราบอีกครั้งถึงเอกสารที่ต้องนำมายื่นขอทำบัตรประจำตัวประชาชน ภายหลังจากที่ท่านทำการลงทะเบียนสำเร็จทันที
10. บัตรประจำตัวประชาชนมีอายุกี่ปี
บัตรประจำตัวประชาชนมีอายุ 8 ปี นับแต่วันออกบัตร
11. หากบัตรประจำตัวประชาชนสูญหายต้องแจ้งความหรือไม่
ไม่จำเป็นต้องแจ้งความ ท่านสามารถทำนัดหมายขอทำบัตรประจำตัวประชาชนเนื่องจากกรณีบัตรสูญหาย พร้อมเตรียมค่าธรรมเนียมเงินสด 4 ดอลลาร์สหรัฐ มาชำระในวันที่ท่านมีนัดหมายได้เลย (ชำระเป็นเงินสดเท่านั้น) อย่างไรก็ดี สถานเอกอัครราชทูตฯแนะนำให้ท่านแจ้งความกับสถานีตำรวจท้องถิ่นไว้ เพื่อป้องกันการถูกนำบัตรประจำตัวประชาชนไปใช้ หรือการถูกสวมสิทธิในภายหลัง (หากมีผู้ไม่ประสงค์ดีเก็บบัตรประจำตัวประชาชนของท่านได้)
12. หากต้องการเปลี่ยนนามสกุลในบัตรประจำตัวประชาชนเนื่องจากการสมรส/หย่า จะต้องดำเนินการอย่างไร
สถานเอกอัครราชทูตฯ ไม่สามารถเปลี่ยนนามสกุลไทยให้ท่านได้ ท่านต้องแก้ไขนามสกุลในทะเบียนราษฎร ณ ประเทศไทยเท่านั้น เนื่องจากข้อมูลที่ใช้ในการทำบัตรประจำตัวประชาชนจะอิงข้อมูลจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรจากประเทศไทย ทั้งนี้ ท่านสามารถยื่นเรื่องแก้ไขนามสกุลด้วยตนเอง หรือ มอบอำนาจให้บุคคลอื่นดำเนินการแทนที่สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ จากนั้นจึงนำหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อ/สกุล มาประกอบการยื่นขอทำบัตรประจำตัวประชาชนใบใหม่
13. กรณีใดบ้างที่ไม่สามารถทำบัตรประจำตัวประชาชนในต่างประเทศได้
ผู้ที่ยังไม่เคยทำบัตรมาก่อน และ/หรือ คนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศเป็นเวลานาน แต่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลางหรือถูกจำหน่ายออกจากทะเบียนบ้าน (ท.ร. 97) จะไม่สามารถขอทำบัตรประจำตัวประชาชนในต่างประเทศได้ (ศึกษาเพิ่มเติมต่อที่ข้อ 15 และ 16)
14. กรณียังไม่เคยมีบัตรประจำตัวประชาชน จะทำอย่างไร
ผู้ที่อายุ 7 ปีขึ้นไป แต่ยังไม่เคยทำบัตรประจำตัวประชาชนมาก่อน จะไม่สามารถยื่นคำขอมีบัตรในต่างประเทศได้ แต่ต้องดำเนินการยื่นคำขอมีบัตรที่ประเทศไทยเท่านั้น สาเหตุที่ยังไม่อนุญาตให้ดำเนินการในต่างประเทศได้ เนื่องจากต้องมีการตรวจสอบหลักฐานและ/หรือพยานบุคคล รวมทั้งเกี่ยวข้องกับระเบียบข้อกฎหมายที่ต้องดำเนินการ เพื่อเป็นการยืนยันว่าการออกบัตรประจำตัวประชาชนนั้นถูกต้องและตรงกับบุคคลที่ยื่นขอมีบัตร
15. หากมีชื่อติดอยู่ในทะเบียนบ้านกลาง ต้องทำอย่างไร
คนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศเป็นเวลานาน โดยปกติแล้วจะต้องแจ้งย้ายชื่อออกจากทะเบียนบ้านปกติ (ท.ร. 14) เข้าไปอยู่ในทะเบียนบ้านชั่วคราวสำหรับคนที่เดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านชั่วคราวดังกล่าว จะยังมีสิทธิขอทำบัตรประจำตัวประชาชนในต่างประเทศได้
อย่างไรก็ดี ทะเบียนบ้านกลาง หมายถึง ทะเบียนบ้านที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนดให้จัดทำขึ้นสำหรับลงรายการบุคคลที่ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านปกติ (ท.ร.14) ทั้งนี้ ผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลาง จะไม่สามารถขอทำบัตรประจำตัวประชาชนในต่างประเทศได้ ขอให้ติดต่อสำนักทะเบียนที่เกี่ยวข้อง เพื่อแจ้งย้ายชื่อออกจากทะเบียนบ้านกลางไปเข้าทะเบียนบ้านชั่วคราวสำหรับคนที่เดินทางไปต่างประเทศ โดยสามารถดำเนินการด้วยตนเองหรือสามารถมอบอำนาจให้บุคคลอื่นดำเนินการแทน
16. หากมีชื่อติดอยู่ใน ท.ร. 97 ต้องทำอย่างไร
ท.ร.97 หมายถึง บุคคลที่ถูกจำหน่ายรายการออกจากทะเบียนบ้าน โดยมีผู้มายื่นคำร้องต่อนายทะเบียนท้องถิ่นที่มีชื่ออยู่ตามทะเบียนบ้าน อาทิ บุคคลที่มีชื่อซ้ำในทะเบียนบ้านเกินกว่า 1 แห่ง กรณีบุคคลหายสาบสูญ และ/หรือ บุคคลที่มีชื่ออยู่ทะเบียนบ้านกลางของสำนักทะเบียนแล้วไม่มีการเคลื่อนไหว หากท่านเป็นผู้ที่ถูกจำหน่ายรายการออกจากทะเบียนบ้าน (ท.ร.97) ท่านต้องกลับไปดำเนินการแจ้งย้ายชื่อออกด้วยตนเองเท่านั้น (ไม่สามารถมอบอำนาจให้บุคคลอื่นดำเนินการแทนได้)
17. จะทราบได้อย่างไรว่าตนเองมีชื่อติดอยู่ในทะเบียนบ้านกลาง หรือ ท.ร.97
ท่านสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัตรประจำตัวประชาชนประจำสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อตรวจสอบว่าท่านมีชื่อติดอยู่ในทะเบียนบ้านกลาง หรือ ท.ร.97 หรือไม่ โดยสามารถติดต่อได้ที่อีเมล idcard@thaiembdc.org
18. หากประสงค์จะนัดทำบัตรประจำตัวประชาชนและหนังสือเดินทางในวันเดียวกัน จะต้องทำนัดแยกกันหรือไม่
คิวนัดหมายบัตรประจำตัวประชาชนสงวนไว้ให้ผู้ที่จะทำบัตรประจำตัวประชาชนอย่างเดียวเท่านั้น หากจะทำหนังสือเดินทางแต่บัตรประจำตัวประชาชนหมดอายุ หรือสูญหาย ให้ท่านทำนัดหมายสำหรับหนังสือเดินทางเพียงอย่างเดียว เจ้าหน้าที่จะอนุโลมให้ทำบัตรประจำตัวประชาชนในวันเดียวกัน
19. สามารถยื่นขอทำบัตรประจำตัวประชาชนได้ที่ใดบ้าง
ท่านสามารถทำการนัดหมายเพื่อขอทำบัตรประจำตัวประชาชน ณ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน หรือ สถานกงสุลใหญ่ที่ท่านสะดวก ดังนี้
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน (ฝ่ายกงสุล)
2300 Kalorama Rd., N.W. Washington, D.C. 20008
อีเมล idcard@thaiembdc.org
เว็บไซต์ https://thaiembdc.org/th/consularservice/idcard/
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก
351 E 52nd St., New York, NY 10022
อีเมล info@thaiconsulnewyork.com
เว็บไซต์ https://www.thaicgny.com
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโก
700 N Rush St., Chicago, IL 60611
อีเมล info@thaiconsulatechicago.org
เว็บไซต์ https://www.thaiconsulatechicago.org/index.php
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส
611 N Larchmont Blvd. #2, Los Angeles, CA 90004
อีเมล thai-la@mindspring.com
เว็บไซต์ http://thaiconsulatela.org