นายกรัฐมนตรีพบปะคณะผู้บริหารและผู้แทนบริษัทสมาชิกสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (USABC)หารือการสร้างโอกาสการค้าการลงทุนให้กับผู้ประกอบการไทย

เมื่อวันที่ 28 พ.ย.65 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้หารือกับคณะผู้บริหารและผู้แทนบริษัทสมาชิกสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (U.S. – ASEAN Business Council : USABC) ที่ได้มีโอกาสพบปะกันทุกปี โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การสร้างโอกาสการค้าการลงทุนให้กับผู้ประกอบการไทย รวมถึงพี่น้องเกษตรกร แรงงาน ผู้ผลิตรายย่อย SME และ Startup ในทุกระดับ ซึ่งรัฐบาลจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการออกนโยบายเพื่อส่งเสริมการค้า-การลงทุน การอำนวยความสะดวกให้การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ราบรื่น ภายใต้กฎ-ระเบียบที่เป็นสากล และได้รับความเป็นธรรมสำหรับทุกฝ่าย รวมทั้งเอื้อต่อการมาลงทุนในประเทศไทย กระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานในทุกพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ในการรองรับการขยายตัวของการลงทุนหลังโควิด รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมไว้แล้วอย่างต่อเนื่อง ตามแนวทาง “3 แกน” ทั้งโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม-โทรคมนาคม-5G นโยบายผลักดันให้ประเทศไทยเป็น “ศูนย์การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า” ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก และยกระดับการให้บริการด้านการเงิน-การธนาคารด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อให้ผู้ประกอบการทุกระดับเข้าถึงแหล่งทุนง่ายและสะดวกขึ้น ตลอดจนให้เกิดการพัฒนาร่วมกันไปในทิศทางที่ถูกต้อง สอดคล้องกับบริบทโลกในวันข้างหน้า ที่เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางที่รัฐบาลไทยได้ผลักดันในทุกเวที คือ การขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) รวมทั้งในการประชุมเอเปค ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ที่เพิ่งผ่านไปด้วย

โดยประเด็นที่ได้หารือในครั้งนี้ จะต่อเนื่องจากครั้งที่ผ่านมา ที่ทาง USABC ได้เป็นเจ้าภาพต้อนรับผม และคณะ ณ กรุงวอชิงตัน เมื่อกลางปีนี้ รวมทั้งมีความสนใจร่วมกันเพิ่มเติมหลายประเด็น เช่น
1. การแชร์ประสบการณ์ความสำเร็จด้านสาธารณสุข ในการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจช่วงหลังโควิดฯ ตลอดจนมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวและบริการ

2. การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ที่จะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล การสร้างทักษะบุคลากร (Upskill และ Reskill) การส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรม

3. การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกอบด้วย การสร้างเสริมเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV)

หลังจากนี้ คณะ USABC ก็จะได้มีโอกาสเข้าหารือในรายละเอียดกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงการคลัง การทรวงการต่างประเทศ รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้ส่งผลเป็นรูปธรรม เกิดผลประโยชน์กับประชาชนชาวไทยในทุกสาขาอาชีพ และทุกภาคส่วนต่อไปครับ

Credit FB : ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha
28 พฤศจิกายน 2565

 

นายกฯ หารือ USABC เสนอ 3 แนวทางเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หารือกับคณะผู้บริหารและผู้แทนบริษัทสมาชิกสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (U.S. – ASEAN Business Council : USABC) ได้แก่ นายโรเบิร์ต โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย นาย Ted Osius ประธาน USABC และผู้แทนบริษัทสมาชิก จำนวน 43 บริษัทจากกลุ่มอุตสาหกรรมสาขาต่าง ๆ

นายกรัฐมนตรีย้ำรัฐบาลให้ความสำคัญกับความร่วมมือและการหารือแลกเปลี่ยนความเห็นกับภาคเอกชน พร้อมเปิดรับโอกาสใหม่ ๆ ทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ซึ่งการพูดคุยครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีในการหารือเกี่ยวกับ “พัฒนาการสำคัญ” ในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะภายหลังจากที่ไทยได้เป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค

นายกรัฐมนตรีเสนอวิสัยทัศน์และแนวทางการเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจไทยในยุค Next Normal 3 ประการ ได้แก่

1. การส่งเสริมเศรษฐกิจที่มีความสมดุล ไทยให้ความสำคัญกับสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียว โดยเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของสหรัฐฯ และมุ่งเข้าสู่การเป็นสังคมปลอดคาร์บอน

2 การส่งเสริมเศรษฐกิจที่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน ไทยพร้อมสร้างโอกาสทางการค้า มุ่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน

3 การส่งเสริมเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม ไทยมุ่งผลักดันและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เร่งพัฒนาวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น และส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัล

Credit FB : ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี