สมาคมนักวิชาชีพไทยในสหรัฐฯ ระดมสมองช่วยพัฒนาสะเต็มศึกษาในไทย

STEM1

ในระหว่างที่หน่วยงานของไทยกำลังผลักดันการพัฒนา “สะเต็มศึกษา” หรือ STEM Education ซึ่งย่อมาจาก Science, Technology, Engineering และ Mathematics ตามคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อเดือนกันยายน 2557 ที่มุ่งส่งเสริมระบบการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงระหว่างวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์เพื่อพัฒนาประเทศนั้น สมาคมนักวิชาชีพไทยในอเมริกาและแคนาดา หรือ “ATPAC” (Association of Thai Professionals in America and Canada) ก็ไม่อยู่เฉย โดยใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์จากการเป็นนักวิชาชีพไทยในสหรัฐฯ มาร่วม 20 – 30 ปีช่วยศึกษาว่าไทยจะได้รับประโยชน์จากสหรัฐฯ ในเรื่องสะเต็มศึกษาได้อย่างไร เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นหุ้นส่วนสำคัญของไทยในเรื่องนี้

STEM2

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา ท่านทูตพิศาลได้เปิดบ้านต้อนรับคณะ ATPAC อีกครั้ง หลังจากเคยทำความรู้จักกันแล้วเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งในครั้งนั้น ศ. ดร. วันประชา เชาวลิตวงศ์ ประธานสมาคม ATPAC คนหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนด้านวิศวกรรมศาสตร์และรังสีวิทยาอยู่ที่ University of Washington ที่เมืองซีแอตเติล พร้อมสมาชิกคณะกรรมการบริหาร ATPAC ก็ได้ปวารณาตัวที่จะช่วยพัฒนาประเทศไทยด้วยจิตอาสา ท่านทูตพิศาลฯ จึงได้มอบการบ้านให้ ATPAC ช่วยศึกษาว่าประโยชน์ของไทยเรื่องสะเต็มศึกษาในสหรัฐฯ อยู่ที่ไหนและมีอะไรบ้าง ซึ่ง ATPAC ก็ตอบรับด้วยดี โดยหวังที่จะนำความรู้และประสบการณ์ในสหรัฐฯ มาทำประโยชน์ให้แก่ประเทศไทย

 

STEM4

สำหรับการเยือนกรุงวอชิงตันในครั้งนี้ ศ. ดร. วันประชาฯ หรือ ดร. อาร์ท พร้อมคณะอาจารย์และนักวิชาชีพของ ATPAC จำนวน 10 ท่านได้เดินทางมาจากมลรัฐต่าง ๆ ทั่วสหรัฐฯ เพื่อประชุมระดมสมองเกี่ยวกับการทำการศึกษาเรื่องสะเต็มศึกษาให้สถานทูต โดยได้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องสะเต็ม ประเมินแผนสะเต็มของไทยพร้อมเสนอประเด็นที่อาจปรับเพิ่มในแผนดังกล่าว การเชื่อมโยงสะเต็มศึกษากับภาคอุตสาหกรรม และศึกษาโครงการด้านนี้ของสหรัฐฯ ที่น่าจะปรับใช้กับประเทศไทยได้

ดร. อาร์ทได้มอบหมายให้ ศ. ดร. เอกลักษณ์ คาน ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐนอร์ธดาโกตา นำเสนอความคืบหน้าของโครงการนี้ โดย ศ. ดร. เอกลักษณ์ ได้แจ้งว่ารายงานของ ATPAC จะให้ข้อเสนอแนะไปยังประเทศไทยเพื่อร่วมปรับปรุงแผนแม่บทสะเต็มศึกษา 5 ปี (พ.ศ. 2558 – 2562) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การระบุผลประโยชน์ด้านสะเต็มศึกษาของไทยในสหรัฐฯ ซึ่งกำหนดนโยบายโดยแต่ละมลรัฐ และตัวอย่างที่ดีของสหรัฐฯ ซึ่งไทยสามารถใช้ประโยชน์ได้ เช่น การใช้สะเต็มศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ร่วมทั้งจะช่วยระบุหุ้นส่วนของไทยในสหรัฐฯ ในรื่องนี้

ท่านทูตพิศาลได้แสดงความยินดีและชื่นชมเป็นอย่างยิ่งที่ ATPAC มุ่งมั่นตั้งใจดีและมีจิตอาสาที่ต้องการช่วยพัฒนาประเทศไทย รวมทั้งมีความพร้อมที่จะร่วมมือสนับสนุนงานของสถานทูต โดยในเรื่องสะเต็มศึกษา สถานทูตจะเผยแพร่รายงานของ ATPAC เมื่อรายงานแล้วเสร็จในช่วงปลายเดือนนี้ ทั้งนี้ ท่านทูตขอให้ ATPAC ช่วยระบุด้วยว่าสถานทูตควรช่วยผลักดันเรื่องสะเต็มศึกษาในสหรัฐฯ อย่างไร เช่นในปีหน้าและในอนาคตอันใกล้ สถานทูตควรไปเยือนมลรัฐใดที่มีประโยชน์ด้านสะเต็มศึกษาสำหรับประเทศไทย นอกจากนี้ ท่านทูตขอให้ ATPAC ใช้โอกาสการเยือนประเทศไทยในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้เพื่อหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นและเพื่อไม่ให้ทำงานซ้ำซ้อนกันด้วย

ที่ผ่านมา ATPAC ได้ทำโครงการต่าง ๆ เพื่อนำความรู้และเทคโนโลยีต่าง ๆ ไปยังประเทศไทย เช่น การนำ U.S. Army Corp of Engineers ไปช่วยเหลือประเทศไทยในช่วงเกิดอุทกภัย และการช่วยแก้ปัญหาขยะมีพิษที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและนิคมอุตสาหกรรมอื่น ๆ   ทั้งนี้ ท่านที่สนใจจะทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ATPAC สามารถเข้าไปดูได้ที่ http://www.atpac.org/index.php/en/ ซึ่งมี link ที่หน้าเว็บไซต์ของสถานทูต (www.thaiembdc.org) ด้วยเช่นกัน

——————-

ฐานิดา เมนะเศวต