สี่แยกโปโตแมค: โครงการแทนิพ-ลูกหลานไทยไปสภา?!

11426735_831734213583290_760152733650614605_o

นักศึกษาโครงการแทนิพปี 2558 ได้เข้าพบคุณแทมมี ดั๊กเวิร์ธ
(เครดิตภาพ : facebook.com/thaiamericandc)

ใครเชียร์ลุงตั๊ม … ยกมือขึ้นนนนนนนน!
ใครเชียร์ป้าฮิ้ว … ยกมือขึ้นนนนนนนน
!

เหลืออีกสองเดือนเศษ ก็ถึงเวลาที่อเมริกันชนจะได้ออกกำลังเอ๊กเซอร์ไซส์ไปใช้สิทธิเลือกผู้นำคนใหม่แล้ว ทั้งคุณลุงและคุณป้าหาเสียงกันอย่างสนุกสนานผู้ติดตามอย่างเราๆ เพราะสำนวนทั้งสองคนหาได้พ่ายแพ้ต่อกันไม่

อ๊ะๆๆๆ ป่าวครับ ผมไม่ได้มีสิทธิเลือกพรรคช้างหรือพรรคลากับเค้าหรอกครับ พอดีเรื่องราวของวันนี้จะไปเกี่ยวข้องกับรัฐสภาสหรัฐฯ นิดนึง …. โอ้ว โน่ววววว โน การเมือง ครับ … อ้าว แล้วยังไงกันล่ะ?

อยากจะบอกท่านผู้อ่านว่า เรามีลูกหลานเชื้อสายไทยที่เป็นลูกครึ่งไทยอเมริกันจำนวนมากมายอยู่ทั่วเมืองลุงแซมแห่งนี้

เด็กๆ เยาวชนเหล่านี้มีพ่อหรือแม่เป็นคนไทย หรือบางคนพ่อแม่มาตั้งรกรากตั้งแต่หนูๆ เหล่านี้ยังไม่เกิดหรือตั้งแต่เด็กๆ โน่น เด็กๆ เหล่านี้เติบโตตามวิถีท้องถิ่น เข้าโรงเรียนที่อเมริกาอยู่รัฐไหนเมืองไหนก็ไปเรียนที่นั่น หลายคนพูดและฟังภาษาไทยเข้าใจได้ดีเพราะที่บ้านพูดไทย หลายคนพูดและฟังไทยได้พอใช้เพราะอยู่ในสังคมที่พูดภาษาอังกฤษมากกว่าและก็มีหลายคนที่พูดไม่ได้แต่ฟังเข้าใจ สุดแท้แต่การสื่อสารในครอบครัว

เมื่อเรามีลูกหลานไทยที่เป็นไทย-อเมริกันเยอะขนาดนี้ เราจึงต้องหาทางที่จะช่วยให้ลูกหลานไทยเหล่านี้ “มองให้ไกล” ในอเมริกามองให้ไกลถึงไปสภากันเลยล่ะ

 

นักศึกษาโครงการแทนิพปี 2558 รับฟังการบรรยายสรุปที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เครดิตภาพ : facebook.com/thaiamericandc)

นักศึกษาโครงการแทนิพปี 2558 รับฟังการบรรยายสรุปที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ
(เครดิตภาพ : facebook.com/thaiamericandc)

 

ไม่ใช่อื่นไกลเลยครับ ใกล้ตัวผมนี่เอง สถานทูตไทยที่กรุงวอชิงตันตระหนักถึงความสำคัญของลูกหลานไทยที่อยู่ที่นี่ จึงได้ริเริ่มโครงการ “แทนิพ” หรือโครงการฝึกงานสำหรับชาวไทย-อเมริกัน (Thai American National Internship Program : TANIP)  ซึ่งจะเป็นประสบการณ์ที่สำคัญและประทับใจครั้งหนึ่งในชีวิตสำหรับเยาวชนที่ได้รับคัดเลือก เพราะจะได้เข้าถึงระบบการเมืองและการปกครองของอเมริกาแบบตรงๆ เรียกว่าเดินเข้าไปหาผู้แทนถึงสภานั่นเลย เราจะฝึกงานกันราว 8 สัปดาห์ ตั้งแต่ปลายพฤษภาคมถึงราวเดือนกรกฎาคม

นักศึกษาโครงการแทนิพปี 2558 (เครดิตภาพ : facebook.com/thaiamericandc)

นักศึกษาโครงการแทนิพปี 2558
(เครดิตภาพ : facebook.com/thaiamericandc)

 

แทนิพปีแรก ลูกหลานไทยจากรัฐต่างๆ ได้รับคัดเลือกเข้ามา 5 คน เป็นสามหนุ่มและสองสาว สัปดาห์แรกจะเป็นช่วงปฐมนิเทศ ช่วงรื่นเริงบันเทิงใจ มีคนพาไปชมเมือง เข้าพบผู้แทนจากทำเนียบขาว กระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนการค้า กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงกลาโหม (โอ้ววว แค่นี้ก็คุ้มแล้วนะ) ศาลสูง สภานิติบัญญัติ และผู้ที่ทรงอิทธิพลในการกำหนดนโยบายด้านต่างๆ ของประเทศ (พวก think tanks สื่อมวลชน ลิบบี้ยิสต์ และนักธุรกิจสำคัญๆ)

สัปดาห์ที่สอง ไหนๆ ก็เป็นเจ้าภาพจัดหาเงินสนับสนุนแล้ว ต้องให้น้องๆ มาฝึกงานด้านกงสุลที่สถานทูตสิครับ น้องๆ จะได้เรียนรู้งานบริการซึ่งเป็นงานหลักของสถานทูตเลยนะ สัปดาห์ที่สามถึงสัปดาห์สุดท้าย น้องๆ จะได้ฝึกงานที่สภาหรืองานภาครัฐกันเต็มๆ ปิดท้ายรายการด้วยการประเมินจากหน่วยงานที่ไปฝึกกันมา และสถานทูตร่วมด้วย จากนั้น ก็รับใบประกาศกันไปเป็นหลักฐานว่า ฉันผ่านแทนิพแล้วววววววว

ในฐานะที่มีเชื้อสายไทยอยู่ในเลือดเนื้อ น้องๆ จะต้องเข้าฟังการบรรยายสรุปเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองไทยในหลายๆ ด้าน ทั้งในระดับทวิภาคี คือ ความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐ ระดับพหุภาคี คือ ประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และระดับภูมิภาค เช่น สหรัฐกับอาเซียน หรือองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ ด้วย แต่ไม่ต้องกลัวว่าน้องๆ ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญช่ำชองนะครับ ถือว่าได้ฟังเพื่อรู้เพื่อตระหนักถึงคุณค่าของความเป็นไทยของเรา และนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้ … ใช้อะไร ใช้เล่าให้เหล่าผู้กำหนดนโยบายสหรัฐและคนอื่นๆ ให้เข้าใจประเทศไทย คนไทย และวิถีไทยไงครับ

 

ท่านทูตพิศาลผู้ริเริ่มโครงการกับนักศึกษาปี 2559 (รุ่น 2) คนขวานั่นอายุเกิน ไม่ใช่นักศึกษาแน่ๆ! (เครดิตภาพ : thaiembdc.org)

ท่านทูตพิศาลผู้ริเริ่มโครงการกับนักศึกษาปี 2559 (รุ่น 2)
คนขวานั่นอายุเกิน ไม่ใช่นักศึกษาแน่ๆ!
(เครดิตภาพ : thaiembdc.org)

แทนิพรุ่นที่สอง ปี 2559 รับมาอีก 5 คน … จริงๆ สถานทูตตั้งโจทย์ไว้ที่ 8 คนหรือมากกว่าถ้าเป็นผู้ที่พร้อมด้วยคุณสมบัติ … สามหนุ่มและสองสาวเหมือนปีก่อน … รุ่นนี้ไปอยู่กับสมาชิกสภาคองเกรสสองคน สภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียนสองคน แล้วก็หน่วยงานเกี่ยวกับหมู่เกาะอเมริกันในเอเชีย-แปซิฟิคอีกคนนึง หลากหลายจริงๆ แต่ละคนได้กลับมาเล่าความประทับใจให้เราฟังกัน ฟังแล้วปลื้มใจแทนน้องๆ ที่ได้ฝึกงานสำคัญๆ ทั้งนั้นเลยครับ

เอาละ ใครสนใจ ลองดูซิว่ามีคุณสมบัติตามนี้มั้ย …

มีสัญชาติอเมริกัน อายุ 18 – 25 ปี จบปริญญาตรีหรือกำลังเรียนระดับปริญญาตรีโดยมีเกรดที่สูงพอใช้นะครับ มีความเป็นผู้นำเคยทำกิจกรรมบริการชุมชน …. มีมั้ยครับ ถ้ามีครบ อ่านต่อ

สมัครสิครับ ตรวจสอบจากเว็บไซต์สถานทูตได้เลย http://thaiembdc.org/TANIP เริ่มเปิดรับสมัครช่วงเดือนตุลาคมนี้ สมัครออนไลน์เลย ขอประวัติส่วนตัว ทรานสคริปต์ล่าสุด บัตรประจำตัวหรือเอกสารที่แสดงว่าเรามีสัญชาติอเมริกันจริงๆ บัตรประจำตัวหรือเอกสารของพ่อหรือแม่หรือทั้งคู่ที่แสดงว่าเป็นคนไทยจริง ฯลฯ … ไม่บอกหมดล่ะ ให้ตามไปดูในเว็บไซต์ดีกว่า จะได้รายละเอียดชัดเจนว่าหนูๆ ต้องส่งเอกสารอะไรบ้าง

สมัครแล้ว ส่งออนไลน์แล้ว คณะกรรมการจะคัดเลือกล่ะ … คณะกรรมการก็ประกอบด้วยคนของสถานทูตและสถาบันเอเชีย-สหรัฐ (US-Asia Institute) พอเลือกคนที่เหมาะได้แล้ว คณะกรรมการจะสัมภาษณ์โดยโทรศัพท์หรือผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ จะได้ให้รู้ดำรู้แดงกันไปเลยว่า เหมาะมั้ย? …

ในเดือนมกราคม พอฉลองปีใหม่กันแล้ว สถานทูตจะติดต่อคนที่ถูกหวย เอ๊ย ได้รับคัดเลือก โดยตรง เพื่อกันคนมาแอบอ้างน่ะครับ

อ่านมาถึงตรงนี้ ท่านที่เป็นพ่อแม่ หรือลูกหลานที่เข้าข่าย … อย่าทิ้งโอกาสดีนะครับ

ใครจะไปรู้ว่าอีก 20 ปีข้างหน้า ศิษย์แทนิพจะได้เข้าไปเป็นเซเนเตอร์ก็เป็นได้ จริงมะ?

พบกันใหม่ในเร็วๆ นี้ครับ!

 

กิตินัย นุตกุล
29 สิงหาคม 2559
kitinain@thaiembdc.org

 

หมายเหตุ

1. อนุญาตให้นำบทความนี้ไปเผยแพร่ต่อได้โดยต้องอ้างอิงเว็บไซต์ของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน (thaiembdc.org)
2. ภาพถ่ายทั้งหมดเป็นกรรมสิทธิ์ของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ไม่อนุญาตให้นำไปทำการใดๆ เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจหรือการค้า

******************************

ย้อนอ่าน
ตอนที่ 1  สี่แยกโปโตแมค : บอสตัน – นครที่คนไทยพึงรู้จัก